วันนี้โดนยา Nasifed เข้าไป ไม่เป็นอันทำอะไรเลยฮะ ง่วงตาจะปิดอยู่ตลอดเวลา อ่านหนังสือสอบก้ไม่รู้เรื่อง ก็เลยหาทางทำยังไงดีนะที่จะทำให้หายง่วงได้ และได้งานไปด้วย ก็เลยอัพบล๊อกแม่งซะเลย
การสอบ Comprehensive ที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้มีเรื่องที่เกี่ยวกับ Operation Management ซึ่งโดยรวมแล้ววิชานี้พูดถึงเรื่องการลดต้นทุนในการดำเนินงาน โดยวิธีหนึ่งที่ได้ประสิทธิภาพมากเรียกว่า Lean Production ซึ่งผมคิดว่าการลดต้นทุนเป็นวิธีที่ดีในการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันนะ ยังไงก็น่าจะง่ายกว่าการหาเรื่องขึ้นราคาจริงป่ะ
Lean Production คืออะไร
ถ้าแปลตรงตัวแล้ว Lean แปลว่า ผอม หรือ ปราศจากไขมัน (ให้นึกภาพนักมวยไทยที่ตัวผอมแต่แข็งแรงไว้) ซึ่งให้ผลในแง่ดี อย่างที่บอกเหมือนคือนักมวยที่ไม่มีไขมัน เวลาวิ่ง หรือชกมวย ก็จะทำให้ไม่ต้องรับน้ำหนักส่วนเกิน ทำให้ชกได้กระฉับกระเฉง และว่องไวยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบนักมวยเป็นกระบวนการผลิตก็จะเห็นภาพกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีส่วนใดที่ทำให้เกิดการสูญเสียทั้งเวลาและเงินโดยใช่เหตุนั่นเอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการลดต้นทุนแบบ Lean ไม่ได้แปลว่าให้ไล่พนักงานออกนะ แต่หากเป็นการปรับปรุงกระบวนการเก่าที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งก็จะก่อให้เกิดผลดีมากมาย เช่น มีของเสียน้อย, Lead Time สั้นลง, พัสดุคงคลังมีปริมาณน้อย, และ ลดจำนวนการเกิดสภาพคอขวด ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อองค์กรทั้งสิ้น ในความเห็นส่วนตัว คิดว่าการผลิตแบบ Lean นั้นเป็นที่แพร่หลายและสามารถประยุกต์ใช้ได้ในหลายวงการ ไม่แน่นะ Agile ในวงการ Software ก็อาจจะมาจาก Lean Production ก็ได้
เป้าหมายของ Lean Production
1. ให้ความสำคัญกับกระบวนการที่สร้างมูลค่าเพิ่มและตรงกับความต้องการของลูกค้า และลดกระบวนการที่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น การขนย้ายสินค้าที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ เป็นต้น
2. ลด "ความสูญเปล่าทั้ง 7 ประการ" หรือในวงการ Logistic จะเรียกกันว่า 7 Wastes
3. ลดระยะเวลาในการทำการผลิต
4. ลดต้นทุน
ความสูญเปล่าทั้ง 7 ที่เราจะใช้ Lean Production แก้
มีวิธีจำให้ง่ายขึ้นโดยให้จำว่า "WORMPIT" ดังนี้
1. W : Waiting หมายถึงการรอคอยที่ไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาคอขวดในสายพานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นทางด้านคนหรือเครื่องจักร ซึ่งจะส่งผลทำให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการผลิต หรือผลิตสินค้าได้ไม่ทันตามความต้องการของผู้บริโภค นับเป็นการสูญเสียด้านเวลาอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างเช่น การรอคิวถ่ายเอกสารในแง่ของพนักงาน หรือการรอคิวการผลิตในสายพานการผลิตที่เกิดจากปัญหาคอขวดของวัตถุดิบ หรือ ความสามารถที่ไม่เท่ากันของพนักงาน โดยแนวทางแก้ไขของปัญหานี้ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยอาจจะใช้ Gantt Chart เพื่อดูระยะเวลาในการดำเนินงานแต่ละอย่างก็ได้ เพื่อให้เห็นภาพระยะเวลาในการผลิตโดยรวมและปรับปรุงตามความเหมาะสมก็ได้ หรือ อาจจะใช้วิธีการควบคุมการไหลของคิวงานตามแบบ FIFO หรือ LIFO ก็ได้ ตามความเหมาะสม
2. O : Over Production หมายถึง การผลิตที่มากเกินจำเป็น เนื่องจากผู้ผลิตสินค้าต้องการผลิตสินค้าให้มีจำนวนมากพอที่จะขายให้กับลูกค้าได้ และไม่ต้องการสูญเสียโอกาสในการขายสินค้าเมื่อลูกค้าต้องการโดยทันที ซึ่งการผลิตสินค้าให้มีจำนวนมากเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งนี่เองเป็นสาเหตุของการผลิตที่มากเกินไปอีกด้วย ซึ่งการผลิตที่มากเกินไปนั้นไม่ได้ก่อให้เกิด Value เพิ่มในการผลิตเลย อีกทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยาการโดยใช่เหตุอีกด้วย ซึ่งหากจะยกตัวอย่างก็อาจจะมองเห็นได้หลายแง่ เช่น การที่ผู้ปฏิบัติงานทำงานที่นอกเหนือจากที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง ดังนั้นนอกจากจะไม่ได้เป็นการเพิ่ม Value ให้งานที่สั่งแล้ว ยังเป็นการสูญเสียทรัพยากรและเวลาอีกด้วย โดยแนวทางแก้ไขปัญหานี้ก็ทำได้หลายวิธี (อีกละ) ไม่ว่าจะเป็น Process Analysis เพื่อนำผลที่ได้มาประเมินดูว่ามีงานที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์หรือไม่ หรือการใช้วิธีการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้้นเพื่อลด Defect ที่จะเกิดขึ้นในการบวนการผลิต ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตสามารถประเมินจำนวนสินค้าที่ควรจะผลิตได้แม่นยำมากขึ้นผ่านเครื่องมือ 7 QC ดังนี้
1. Check Sheet : ใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลได้ง่ายยิ่งขึ้น
2. Pareto Chart : ใช้เพื่อกำหนดกรอบของปัญหา และประกอบการตัดสินใจว่าปัญหาไหนสำคัญที่สุด
3. Fishbone Diagram : ใช้เพื่อหาสาเหตุของปัญหาว่ามีสาเหตุใดเป็นไปได้บ้าง
4. Histogram : ใช้เพื่อวิเคราะห์ความเบี่ยงเบน (ที่ไม่เกี่ยวกับทางเพศ) ของข้อมูล
5. Scatter Diagram : ใช้เพื่อดูความสัมพันธ์กันระหว่างตัวแปร
6. Flow Chart : ใช้เพื่อแสดงการทำงานแบบทีละขั้นตอน และสามารถบอกได้ว่ามีขึ้นตอนไหนไม่จำเป็นได้ด้วยนะเออ
7. Control Chart : เป็นแผนภูมิกราฟที่ใช้เพื่อการควบคุมกระบวนการผลิต โดยมีการแสดงให้เห็นถึงขอบเขตในการควบคุมทั้งขอบเขตควบคุมบน (UCL) และขอบเขตล่าง (LCL) แล้วนำข้อมูลด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์ในกระบวนการมาเขียนเทียบกับขอบเขตที่ตั้งไว้เพื่อจะได้รู้ว่า ในกระบวนการผลิต ณ เวลาใดมีปัญหาด้านคุณภาพ จะได้รีบแก้ไขปรับปรุงกระบวนการให้กลับสู่สภาพปกติโดยเร็ว
3. R : Rework หมายถึงความสูญเปล่าจากการกลับมาแก้ไขงานเก่าเนื่องจากสินค้าที่ผลิตได้ ไม่มีประสิทธิภาพ หรือการทำงานที่ซ้ำซ้อน ซึ่งข้อนี้ไม่ต้องพูดอะไรมาก แก้ไขได้โดยการทำให้ Defect ออกมาน้อยที่สุด "สตินะลูก สติ" อย่าให้มันเสียเยอะ หรืออาจจะใช้วิธีควบคุมคุณภาพโดยวิธี 7 QC ดังที่กล่าวมาข้างต้นก็ได้นะจ๊ะ แต่อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการแก้ไขปัญหา Rework นี้ คือการรีบเร่งหาต้นตอของสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาแล้วแก้ซะ ก่อนที่สินค้า Lot ใหม่จะถูกผลิต
4. M : Motion หมายถึงความสูญเปล่าอันเกิดจากการเคลื่อนไหว ทำให้ทำงานได้ช้าลงเช่น พนักงานต้องเอียงไปหยิบวัตถุงดิบจากข้างหลังแล้วจึงหันหน้ามาผลิตได้ ซึ่งพบได้มากในโรงงานเย็บเสื้อผ้า หรือโรงงานแกะกุ้ง นอกจากจะทำให้ทำได้ช้าลงแล้วยังส่งผลเสียต่อร่างกายของพนักงานอีกด้วย ซึ่งความสูญเปล่านี้อาจจะแก้ไขได้โดยการจัดผังการวางของหรือการทำงานใหม่ซะ (Layout) หรือจะใช้วิธีการที่เราคุ้นเคยกันดี อย่างเช่น 5ส (สะอาด, สะดวก, สะสาง, สุขลักษณะ, สร้างนิสัย) หรือ ABC Analysis ก็ไม่ผิดนะ
5. P : Processing หมายถึงความสูญเปล่าจากการที่กระบวนการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ เช่นการทำงานซ้ำซ้อน หรือแม้กระทั่งการไม่ดูแลรักษาเครื่องจักรจนทำให้ความสามารถของเครื่องจักรต่ำลง ซึ่งการทำ Process Analysis และการเขียน Flow Chart จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้
6. I : Inventory หมายถึงความสูญเปล่าจากการที่เรามีพัสดุคงคลังมากเกินไป ซึ่งบางคนถามว่าไม่ดีตรงไหน "ก็มันเปลืองพื้นที่ เสียเวลาขนส่ง เปลืองค่าบำรุงรักษาโกดัง ไงล่ะลูกเอ๊ย" ดังนั้นแก้ไขซะด้วยวิธี "JIT (Just In Time)" หรือ Pull Strategy ก็ได้นะลูก โดยมีลักษณะดังนี้
1. การไหลของวัสดุ เป็นแบบดึง (Pull Method)
หมายถึง การผลิตสินค้าเมื่อมีความต้องการ เมื่อผู้ผลิตได้รับคำสั่งผลิตก็จะทำการดึงสินค้าจาก Supplier มาทำการผลิต
2. สั่งซื้อจำนวนน้อยในแต่ละครั้ง (Small Lot Size Ordering)
หมายถึง การกำหนดการสั่งซื้อวัสดุเท่ากับปริมาณที่จะใช้ในการผลิต ทำให้มีวัสดุพอดีไม่ต้องเหลือเก็บ แต่ก็มีข้อเสียเช่น หากเป็นการผลิตที่ไม่ใช้วัสดุนั้นเป็นประจำจะทำให้การสั่งซื้อมีปริมาณน้อย มีการสั่งซื้อย่อยบ่อยๆ ย่อมเพิ่มต้นทุนการสั่งซื้อ และต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มในวัสดุนั้น หากเป็นการผลิตที่ต้องมีการปรับตั้งเครื่องจักรบ่อยๆครั้ง ก็อาจทำให้เสียเวลามากขึ้นได้
3.การผลิตแบบอัตโนมัติ (Automated Production)
การผลิตแบบอัตโนมัติมีความสัมพันธ์กับการจัดส่งแบบทันเวลาพอดีอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน ดังนั้นการกำหนดแผนงาน เวลา ปริมาณการใช้วัสดุต้องสัมพันธ์กันและต้องการความแม่นยำ
4. การปฎิบัติงานแบบคงที่ (Workstation Stability)
การวางแผนการทำงานที่ดี ทำให้จุดการทำงานหรือสถานีการทำงานได้รับงานในลักษณะคงที่ในแต่ละวัน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น สามารถลดเวลาในการผลิต
5. ความสัมพันธ์กับผู้จัดส่งที่ดี (Good Relation)
โดยปกติการจัดส่งแบบทันเวลาพอดี (JIT) มักไม่เปลี่ยนตัวคู่ค้า หรือผู้จัดส่งบ่อยๆ เพื่อให้การจัดส่งเป็นไปอย่างราบรื่น และไว้ใจได้
ทั้งหมดทั้งมวลนี้มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา Inventory ได้ทั้งสิ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ "การพยากรณ์สินค้าที่จะสั่งให้แม่นยำ" นั่นเอง
7. T : Transportation หมายถึงความสูญเปล่าเนื่องมาจากการขนย้ายไม่ว่าจะเป็นการข้นย้ายระหว่าง กระบวนการกับกระบวนการ ชั้นบน ชั้นล่าง หรือการขนย้ายไปวางชั่วคราว ณ ที่ใดที่หนึ่ง รวมไปถึงการขน วางซ้อน เปลี่ยน และการต้องขนงานขึ้นลงในแนวดิ่งด้วย ซึ่งการขนย้ายเหล่านี้ ไม่ได้ก่อให้เกิด Value เพิ่มเลย (ยกเว้นการขนย้ายที่เกิดประโยชน์) ซึ่งอาจจะแก้ปัญหานี้ได้โดยการทำยังไงก็ได้ให้มีการขนย้ายน้อยที่สุด เช่น การจัดแผนผังของโกดังให้เหมาะสม หรือ การหา Shortest Path ในการส่งของ เป็นต้น