Friday, May 21, 2010

หมวก 6 ใบ กับอะไรที่มากกว่าเดิม

สวัสดีอีกครั้งครับ หลังจากประสาทเสียกับปัญหาบ้านเมืองมาเป็นเวลานานพอสมควร บางทีก็คิดว่าคนไทยนี่เหมือนเด็กเลย "แค่ความคิดเห็นไม่ตรงกันก็สมควรตายแล้วหรอ แค่ความคิดเห็นไม่ตรงกันก็ต้องทำลายข้าวของเผาบ้านเผาเมืองกันแล้วหรอ จนบางทีก็ทำให้มีความคิดแวบขึ้นมาในหัวว่า นี่มันปัญหาการเมืองจริงรึเปล่า" อ๊ะ!!~ พอดีกว่า เดี๋ยวจะออกทะเลไปไกล มาเข้าเรื่องที่ผมอยากจะนำเสนอในวันนี้กันดีกว่าครับ

บทความนี้ว่าด้วยเรื่องของ Process การคิดที่เรียกว่า "Six Thinking Hats" ซึ่งขบวนการคิดแบบนี้ อันที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่เท่าที่ผมวิเคราะห์ดูแล้ว มันคือวิธีการ "มองหาคำตอบ ผ่านทางมุมมองที่ต่างกัน 6 แบบ" ซึ่งจะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ใครคิด Six Thinking Hats

อีตาลุงคนนี้ชื่อ Edward De Bono ซึ่งจบการศึกษาทางด้านการแพทย์ศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เขามีความ สนใจเรื่องการทำงานของสมอง และใช้เวลาค้นคว้าในเรื่องทักษะการคิดมาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี อีตาลุง De Bono ไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดในรูปแบบเดิม ที่คนเรามักนิยมทำกันเมื่อถกเถียงหรืออธิบายหาเหตุผล (นั่นคือเอาข้อเท็จจริง อารมณ์ หรือเหตุผลส่วนตัว มาปะปนกันในการถกเถียงเพื่อหวังเป็นผู้ชนะ) โดย De Bono และผม (พ่วงซะงั้น) เชื่อว่าวิธีการคิดและการหาเหตุผลดังกล่าวข้างต้นเป็นวิธีที่ผิดและเสียเวลา ดังนั้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 1970 เขาจึงเสนอวิธีคิดแบบ Six Thinking Hats หรือ การคิดแบบหมวก 6 ใบขึ้น โดยแยกกรอบความคิดออกเป็นด้านอย่างชัดเจน จากนั้นจึงวิเคราะห์หาเหตุผลภายในกรอบความคิดนั้นอันจะช่วยพิจารณาปัญหาได้ครอบคลุม และมีคุณภาพมากขึ้น แทนที่จะคิดทุกด้านในเวลาเดียวกัน ซึ่งมักก่อให้เกิดความสับสน

Six Thinking Hats คืออะไร

Six Thinking Hats คือ เทคนิคการคิดอย่างมีระบบ คิดอย่างมีโฟกัส มีการจำแนกความคิดออกเป็นด้านและคิดอย่างมีคุณภาพ เพื่อช่วยจัดระเบียบการคิด ทำให้การคิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น แนวคิดหลัก "การคิด" เป็นทักษะช่วยดึงเอาความรู้และประสบการณ์ของผู้คิดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูง สุดอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ทักษะความคิดจึงมีความสำคัญที่สุด

ลุง Edward De Bono ได้ทำการคิดค้นเทคนิคการคิด Six Thinking Hats ขึ้นมาเพื่อเป็นระบบความคิดที่ทำ ให้ผู้เรียนมีหลักในการจำแนกความคิดออกเป็น 6 ด้าน ทำให้สามารถแก้ปัญหาและตัดสินใจด้วยการคิดทีละด้านอย่างเป็นระบบ เป็นการเพิ่มศักยภาพให้ทักษะการคิด ทำให้ไม่คิดกระโดดไปกระโดดมา หรือคิดพร้อมกันทุกอย่างในเวลาเดียวกัน ซึ่งทำให้สับสนใช้เวลานาน และสรุปไม่ได้ โดยมีองค์ประกอบดังนี้

1. White Hat หรือ หมวกสีขาว หมายถึง ข้อมูลเบื้องต้นของสิ่งนั้น เป็นความคิดแบบไม่ใช้อารมณ์ และมีเป้าประสงค์ที่ชัดเจน แน่นอน ตรงไปตรงมา ไม่ต้องการความคิดเห็น สีขาวเป็นสีที่ชี้ให้เห็นถึงความเป็นกลาง จึงเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง จำนวนตัวเลข เมื่อสวมหมวกสีนี้ หมายความว่าที่ประชุมต้องการข้อเท็จจริงเท่านั้น โดยปกติแล้วเรามักจะ ใช้หมวกขาวตอนเริ่มต้นของกระบวนการคิดเพื่อเป็นพื้นฐานของความคิดที่กำลังจะ เกิดขึ้นแต่เราก็ใช้หมวกขาวในตอนท้ายของกระบวนการได้เหมือนกัน เพื่อทำการประเมิน อย่างเช่นข้อเสนอโครงการต่างๆของเราเหมาะสมกับข้อมูลที่มีอยู่หรือไม่
2. Red Hat (ชื่อยังกะ Linux) หรือ หมวกสีแดง หมายถึง ความรู้สึก สัญชาตญาณ และลางสังหรณ์ เมื่อสวมหมวกสีนี้ เราสามารถบอกความรู้สึกของตนเองว่าชอบ ไม่ชอบ ดี ไม่ดี มีการใช้อารมณ์ ความคิดเชิงอารมณ์ซึ่งส่วนใหญ่การแสดงอารมณ์จะไม่มีเหตุผลประกอบ หรือการตระหนักรู้โดยฉับพลันซึ่งก็คือ เรื่องบางเรื่องที่เคยเข้าใจในแบบหนึ่ง อยู่ๆก็เกิดเข้าใจในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งการตระหนักรู้แบบนี้จะทำให้เกิดงานสร้างสรรค์ การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือวิธีคิดทางคณิตศาสตร์แบบก้าวกระโดด ความคิดความเข้าใจในสถานการณ์โดยทันที ซึ่งเป็นผลจากการใคร่ครวญอันซับซ้อนที่มีพื้นฐานจากประสบการณ์ เป็นการตัดสินที่ไม่อาจให้รายละเอียดหรืออธิบายได้ด้วยคำพูด เช่นเวลาที่คุณจำเพื่อนคนหนึ่งได้ คุณก็จำได้ในทันที
3. Black Hat หรือ หมวกสีดำ หมายถึง ข้อควรคำนึงถึง สิ่งที่ทำให้เราเห็นว่า เราไม่ควรทำ เป็นการคิดในเชิงระมัดระวัง หมวกสีดำ เป็นหมวกคิดที่เป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับวิธีการคิดของตะวันตกมาก หมวกสีดำช่วยชี้ให้เราเห็นว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดไม่สอดคล้องและสิ่งใดใช้ไม่ได้ มันช่วยปกป้องเราจากการเสียเงินและพลังงาน ช่วยป้องกันไม่ให้เราทำอะไรอย่างโง่เขลาเบาปัญญา และผิดกฎหมาย หมวกสีดำ เป็นหมวกคิดที่มีเหตุมีผลเสมอ เพราะในการวิพากษ์วิจารณ์ หรือวิเคราะห์สิ่งใดจะต้องมีการคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลรองรับ ไม่มีอารมณ์มาเกี่ยวข้อง ในการประเมินสถานการณ์ในอนาคตของเรานั้น ต้องขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของเราเองและของผู้อื่นด้วย
4. Yellow Hat หรือ หมวกสีเหลือง หมายถึง การคาดการณ์ในทางบวก ความคิดเชิงบวก เป็นการมองโลกในแง่ดี การมองที่เป็นประโยชน์ เป็นการคิดที่ก่อให้เกิดผล หรือทำให้สิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้ การคิดเชิงบวกเป็นการเปิดโอกาสให้พัฒนาและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความคิดเชิงลบอาจป้องกันเราจากความผิดพลาด ความเสี่ยง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นการคิดเชิงบวกต้องผสมผสานความสงสัยใคร่รู้ ความสุข ความต้องการ และความกระหายที่จะทำสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้นหรือไม่
5. Green Hat หรือ หมวกสีเขียว หมายถึง ความคิดนอกกรอบที่มีความสัมพันธ์กับความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงแนวคิดและมุมมองซึ่งปกติมักถูกกำหนด จากระบบความคิดของประสบการณ์ดั้งเดิม และความคิดนอกกรอบนั้นจะอาศัยข้อมูลจากระบบของตัวเราเอง โดยเมื่อสวมหมวก สีนี้ จะแสดงความคิดใหม่ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น การคิดอย่างสร้างสรรค์
6. Blue Hat หรือ หมวกสีน้ำเงิน หมายถึง การควบคุม และการบริหารกระบวน การคิด เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของความคิดรวบยอด ข้อสรุป การยุติข้อขัดแย้ง การมองเห็นภาพและการดำเนินการที่มีขั้นตอนเป็นระบบ เมื่อมีการใช้หมวกน้ำเงิน หมายถึง ต้องการให้มีการควบคุมสิ่งต่างๆ ให้อยู่ในระบบระเบียบที่ดี และถูกต้องหมวกสีน้ำเงินมักเป็นบทบาทของหัวหน้า ทำหน้าที่ควบคุมบทบาทของสมาชิก ควบคุมการดำเนินการประชุม การอภิปราย การทำงาน ควบคุมการใช้กระบวนการคิด การสรุปผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ อย่างไรก็ตามสมาชิก ก็สามารถ สวมหมวกน้ำเงิน ควบคุมบทบาทของหัวหน้าได้เช่นกัน ตัวอย่างคำถามที่ผู้สวมหมวกน้ำเงินสามารถนำไปใช้ได้ ได้แก่ เรื่องนี้ต้องการคิดแบบไหน ขั้นตอนของ เรื่องนี้คืออะไร เรื่องนี้จะสรุปอย่างไร ขอบเขตของปัญหาคืออะไร ขอให้คิดว่าเราต้องการอะไร และให้เกิดผลอย่างไร เรากำลังอยู่ในประเด็นที่กำหนดหรือไม่ เป็นต้น ผู้สวมหมวกน้ำเงินเปรียบเสมือนผู้ควบคุมวงดนตรีที่จะทำให้ผู้เล่นดนตรีแต่ละ ชิ้นบรรเลงสอดประสานกันได้อย่างไพเราะ ดังนั้น การควบคุมการคิดจึงต้อง เลือกใช้วิธีคิดของหมวกแต่ละใบอย่างเหมาะสม

ที่มา :
http://en.wikipedia.org/wiki/six_thinking_hats

กระบวนการคิดของ Six Thinking Hats นั้นไม่มีรูปแบบตายตัว แต่จะทำการคิดโดยการสวมหมวกทีละใบ ซึ่งEdward De Bono ไม่ได้กำหนดว่าควรจะสวมหมวกสีอะไรก่อนหลังเช่น เริ่มจากหมวกสีน้ำเงิน คือ สิ่งที่เราประสบอยู่ แล้วก็ไปค้นหาวิธีแก้ปัญหานั้น ว่าจะมีทางออกอย่างไรบ้าง จากนั้นจึงมาตรวจสอบกับหมวกสีเหลืองว่า ถ้าทำอย่างนั้นจะมีประโยชน์อะไรบ้าง ตรวจสอบกับหมวกสีดำว่าจะมีปัญหา อุปสรรคอะไรไหม แล้วนำเอาหมวกสีเขียวมาแก้หมวกสีดำอีกที ตรวจสอบกับหมวกสีแดงว่าถูกใจทุกคนหรือไม่ ถ้าไม่ก็หาหมวกสีเขียวมาแก้อีกครั้งหนึ่ง แล้วถึงขั้นตอนสรุป คือหมวกสีน้ำเงิน ไม่จำเป็นต้องใช้หมวกทุกสี

ดังนั้น Six Thinking Hats
จึงเหมาะสมกับการประชุมเพื่อทำการแก้ปัญหาตัดสินใจต่างในองค์กรได้อย่างดี
และมีประสิทธิภาพ



ประโยชน์ของการใช้ Six Thinking Hats

1. เนื่องจากกระบวนการคิดแบบ Six Thinking Hats เป็นการเริ่มคิดในสิ่งเดียวกัน และคิดร่วมกันในประเด็นเดียวกัน ทำให้ลดความขัดแย้งในการประชุมลงไปได้มาก
2. เนื่องจากระบบให้คนคิดทีละด้าน มองทีละด้าน จากด้านหนึ่งไปมองอีกด้านหนึ่ง ทำให้เห็นภาพจริงที่ชัดเจน เป็นผลให้ในเกิดการพิจารณาความคิดใหม่ได้รอบคอบ
3. การใช้ Six Thinking Hats ช่วยให้ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ทำให้เป็นการดึงเอาศักยภาพ ของแต่ละคนมาใช้โดยที่ไม่รู้ตัว
4. ช่วยประหยัดเวลาในการประชุม เนื่องจาก ทุกคนในที่ประชุมมีความคิดแบบคู้ขนาน
5. จำกัดโอกาสหรือช่องทางสำหรับการ โต้เถียงหรือโต้แย้งกัน

Thursday, May 6, 2010

เร่งเครื่องให้เต็มที่ ด้วยวิธีพอเพียง

ปัญหาที่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานช้านั้นผมเชื่อว่าเป็นสิ่งที่หลายท่านต้องเคยเจออย่างแน่นอน หลังจากที่เพิ่ง Format เครื่องไปเมื่อเดือนที่ผ่านมาแค่เดือนเดียวเท่านั้นเอง ปัญหานี้ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากผู้ใช้งานระบบปฏิบัติการวินโดวส์ซะด้วย นั่นเพราะว่า Windows ไม่ดีหรือว่าเราไม่ไม่เข้าใจมันกันแน่นะ

ความอืดที่แลกมาเพื่อความสะดวก


อันที่จริงแล้วระบบปฏิบัติการทุกตัวก็คงไม่ได้แตกต่างกันมากในเรื่องของประสิทธิภาพหรอกครับ เพราะมันก็เป็นซอฟต์แวร์เหมือนกัน มันขึ้นอยู่กับว่าซอฟต์แวร์นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างไร และให้คอมพิวเตอร์ประมวลผลอะไรบ้างเท่านั้นเอง และระบบปฏิบัติการ Windows ก็เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับระบบปฏิบัติการตัวอื่น
ถ้าลองไปถามใครต่อใครว่าระบบปฏิบัติการตัวไหนที่เร็วที่สุด คงไม่มีใครพูดถึง Windows จริงไหมครับ แล้วถ้าพูดถึงระบบปฏิบัติการที่ใช้งานง่ายและสะดวกที่สุดล่ะ แน่นอนส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้น Windows นั่นเอง ดังนั้นจากจุดนี้เอง Windows ได้รับการออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกจึงทำให้มันมีการทำงานที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้รองรับการใช้งานด้านต่างๆ กับผู้ใช้ไว้เสมอ ซึ่งบางครั้งก็ต้องยอมรับล่ะครับ ว่าเราก็ไม่ได้ใช้
คุณเคยสังเกตกันบ้างหรือไม่ครับว่าระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่คุณใช้อยู่นั้นสามารถทำงานได้ดีมาก จะทำโน่น ทำนี่ก็สามารถทำได้ทุกอย่าง ง่ายไปหมด จะติดตั้งโปรแกรม หรือจะใช้งานอุปกรณ์อะไรก็สามารถรองรับได้หมด แล้วคุณคิดว่าความสามารถทั้งหมดจะต้องการโค้ดหรือชุดคำสั่งที่มีความสลับซับซ้อนมากเพียงใด และโค้ดคำสั่งเหล่านี้จะต้องใช้การประมวลผลจากซีพียูแค่ไหน

Service ใน Windows


จริงอยู่ว่าคุณอาจจะไม่ได้ใช้งานฟังก์ชันทั้งหมดที่มันใส่มาในระบบ แต่ว่าของอย่างนี้ก็เลือกไม่ได้หรอกครับ คนที่พัฒนาซอฟต์แวร์ก็ต้องออกแบบให้มีความสมดุลและเอื้ออำนวยให้กับผู้ใช้ทุกกลุ่ม นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ภายในเครื่องของเรามีฟังก์ชันการทำงานที่ถูกเปิดทิ้งไว้มากมาย โดยที่เราแทบจะไม่เคยได้ใช้ หรือไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่ามีมันอยู่ในระบบด้วย


Service ถือว่าเป็นรูปแบบการทำงานของโปรแกรมภายใน Windows อย่างหนึ่ง โปรแกรมที่อยู่ในกลุ่ม Service นี้จะคอยทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ใช้ในด้านที่มันรับผิดชอบ โดยจะคอยทำงานอยู่เบื้องหลัง จะว่าไปก็เหมือนกับโปรแกรมที่ทำงานในลักษณะ Background นั่นเอง แล้วคุณลองคิดซิครับว่าถ้ามี Service ทำงานอยู่ประมาณ 30 ตัว เครื่องจะช้าลงขนาดไหน ทั้งที่คุณอาจจะได้ใช้งานมันไม่ถึง 10 ตัวเลยด้วยซ้ำไป


เปิดใช้ Service ให้พอเพียง อย่างเพียงพอ


สมัยนี้เป็นยุคพอเพียงครับ ดังนั้นเราจึงควรจะต้องปิด Service ที่ไม่จำเป็นทิ้ง เพื่อให้คอมพิวเตอร์เอาเวลาที่ต้องไปประมวลผล Service เหล่านี้มาประมวลผลงานที่เราทำจะดีกว่า มาถึงนี้เราจะเข้าไปปิด Service ได้อย่างไร แล้วจะรู้ได้ยังไงว่าตัวไหนใช้บ้าง ไม่ใช้บ้าง เราจะไปดูพร้อมๆ กันเลยครับ


วิธีในการเข้าไปจัดการกับ Service

สำหรับ Service ในวินโดวส์นั้น คุณสามารถที่จะเข้าไปจัดการมันได้โดยมีวิธีการคือไปที่ปุ่ม Start แล้วเลือกคำสั่ง Run จากนั้นพิมพ์ service.msc ลงไปแล้วกดปุ่ม OK หน้าต่าง Service ก็จะรันขึ้นมาครับ โดยในนั้นจะมี Service มากมายในคุณได้ปรับการทำงาน (Startup Type) โดยจะแบ่งรูปแบบการตั้งค่าดังนี้

  • Automatic ให้เริ่มทำงานโดยอัตโนมัติทุกครั้งที่คุณเปิดเครื่องและบูตเข้าสู่ Windows
  • Manual ไม่ให้เริ่มทำงานเอง แต่จะสามารถสั่งให้หยุดหรือเริ่มการทำงานได้โดยผู้ใช้เอง หรือโปรแกรมบางตัว
  • Disable เป็นการปิดการทำงานของ Service ไม่ให้เริ่มการทำงาน

โหมด Startup ของ Service มีอยู่ด้วยกันหลัก 3 แบบแล้วแต่รูปแบบการใช้งาน


Service ไหนปิดได้บ้าง


เนื่องจาก Service ของระบบวินโดวส์มีอยู่มากมาย บางตัวเป็น Service ของโปรแกรมต่างๆ ที่เราติดตั้งไว้ และบางตัวก็เป็น Service ของระบบเอง ดังนั้นจึงต้องทราบก่อนว่า Service ไหนเป็นของอะไรและจะต้องใช้งานหรือไม่ จึงค่อยตัดสินใจปิดนะครับ เราไปดูกันเลยดีกว่ามี Service อะไรบ้างที่น่าจะปิดกันได้

  • AdobeLM Service: เป็น Service ของ Adobe ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไรครับ ถ้าใครมีตัวนี้อยู่ก็ปิดได้เลย
  • Alerter: ตัวนี้ถ้าคุณไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายก็สามารถปิดได้เลย
  • Application Management: สำหรับตัวนี้ไม่แนะนำให้ปิดครับ แต่ให้เปลี่ยนเป็น Manual แทน
  • Automatic Updates: Service สำหรับ Windows Update ครับ ไม่ควรปิด นอกเสียจากว่าคุณจะใช้วิธีการอัพเดตแบบ Offline อย่างโปรแกรม AutoPatcher แทนครับ
  • ClipBook: เป็นตัวสำหรับแชร์บางอย่างบนเครือข่าย ส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้อยู่แล้ว ปิดซะ
  • Computer Browser: ปิดอีกตัวถ้าไม่ได้ต่อกับเครือข่ายเหมือนกัน เพราะมันไว้สำหรับเข้าไปดึงไฟล์จากเครื่องอื่น
  • Cryptographic Services: ตัวนี้เป็นการเข้ารหัส ถ้าไม่แน่ใจว่าจำเป็นไหมก็ตั้งไว้เป็น Manual ครับ
  • Distributed Transaction Service: ตั้งค่าไว้เป็น Manual
  • DNS Client: ตัวนี้เปลี่ยนเป็น Manual ไปก็ได้ครับถ้าไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่าย
  • Error Reporting Service: เวลามีโปรแกรมแฮงก์แล้วให้กดปุ่ม Don’t Sent ก็เพราะเจ้า Service ตัวนี้แหละครับ ดังนั้นปิดมันไปเลย
  • Fast User Switching Compatibility: สำหรับเครื่องที่มีแรมน้อยปิดไปเลยดีกว่าครับ เพราะ Fast
  • User Switching มีไว้สำหรับการสลับการทำงานของ User โดยไม่ต้อง Logout ก่อน ถ้าคุณมีหรือใช้แค่ User เดียวอยู่แล้วก็ปิดไปเลยครับ
  • FTP Publishing: ถ้าไม่ได้ใช้ FTP ก็ปิดได้เลยครับ
  • Help and Support: ถ้าคุณไม่เคยใช้ Help ของ Windows เลย (ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ใช้) ปิดไปเลยดีกว่าครับ
  • HTTP SSL: ตั้งไว้เป็น Manual ครับ เผื่อต้องใช้เวลาเข้าเว็บที่มี Secure Login อย่างเว็บ E-Banking
  • Human Interface Device Access: ถ้าคุณไม่ได้ใช้ Hot-key หรือ remote system ก็ปิดไปก็ได้ครับ
  • IMAPI CD-Burning COM Service: Service สำหรับคนที่ใช้ไดรฟ์เขียนแผ่น CD/DVD ไม่ควรปิด แต่ตั้งไว้เป็น Manual จะดีกว่า เพื่อประหยัดเมมโมรี
  • Indexing Service: ตัวนี้เป็น Service ที่กินทรัพยากรสูงมาก สำหรับทำ Index ในการค้นหาข้อมูลในเครื่อง ดังนั้นถ้าคุณไม่ได้ใช้ฟังก์ชันค้นหาของวินโดวส์เลย ก็ปิดมันไปได้เลย เครื่องจะเร็วขึ้นอีกเยอะ
  • InstallDriver Table Manager: ตัวนี้ปิดไปได้เลยเหมือนกันครับ ไม่ส่งผลต่อการทำงาน
  • IPSEC Services: ตั้งไว้เป็น Manual ดีกว่า
  • Windows Messenger: ถ้าคุณไม่ได้ใช้ Windows Messenger (ไม่ใช่ MSN Messenger หรือ Windows Live Messenger นะครับ) ก็รีบปิดไปเลยครับ เพราะมันกินแรมเยอะมาก
  • MS Software Shadow Copy Provider: อันนี้ตั้งค่าให้เป็น Manual ครับ
  • Net Logon: อันนี้เปิดได้เลยครับถ้าไม่ได้เชื่อมต่อระบบเครือข่าย
  • NetMeeting Remote Desktop Sharing: สำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ Remote Desktop อยู่แล้วก็ปิด Service นี้ไปได้เลยครับ
  • Network Provisioning Service: ถ้าไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่ายก็ปิดอีกเหมือนกัน
  • NT LM Security Support Provider: ปิดไปได้อีก 1 ตัวเลยครับ
  • NVIDIA Display Driver Service: สำหรับคนใช้การ์ดจอ nVidia แล้วไม่ได้เปิดใช้ nVidia Desktop ก็ปิดดีกว่าครับ
  • Office Source Engine: ตัวนี้ปิดไปได้อีกเหมือนกัน ใช้ในกรณีที่ MS Office ของคุณมีปัญหาแล้วต้องการซ่อมแซมไฟล์ระบบ ซึ่งคุณสามารถใช้แผ่น CD ติดตั้งที่มีอยู่มาแทนได้อยู่แล้ว
    Portable Media Serial Number Service: ตัวนี้ตั้งไว้เป็น Manual ครับเพราะเราน่าจะใช้สื่อแบบพกพากันบ่อยอยู่แล้ว
  • Print Spooler: ถ้าคุณไม่ได้มีพรินเตอร์ก็ปิดไปได้อีกแล้ว
  • Protected Storage: ปิดไปเลยครับ ถ้าคุณไม่ได้ให้คนแปลกหน้ามานั่งเครื่องคุณอยู่แล้ว
  • Remote Desktop Help Session Manager: เป็นอีกหนึ่งตัวที่ถ้าคุณไม่ได้ใช้ Remote Desktop ก็ปิดไปจะดีกว่า
  • Remote Procedure Call Locator: อันนี้ให้ตั้งไว้เป็น Manual ครับ
  • Remote Registry: รีบปิดไปเลยครับ Service นี้ ถ้าเปิดไว้อาจจะเป็นภัยในภายหลังได้
  • Removable Storage: ตัวนี้ไม่ควรปิดครับเพราะเราใช้พวกแฟลชไดรฟ์อยู่แล้ว อย่างดีก็แค่ตั้งไว้เป็น Manual ครับ
  • Routing and Remote Access: อันนี้ให้ตั้งเป็น Manual ครับ
  • Secondary Logon: ไม่ค่อยมีประโยชน์ครับ ปิดไปได้เลย หรือถ้าไม่แน่ใจก็ปรับเป็น Manual
  • Security Accounts Manager: ปิดไปเลยก็ได้ครับไม่ได้ใช้อยู่แล้วนอกจากจะใช้การเข้ารหัสบน NTFS
  • Security Center: อันนี้ก็ปิดไปด้วยก็ได้ครับ กินทรัพยากรเครื่องไปเปล่าๆ
  • Server: ถ้าคุณไม่ได้ต่อกับเครือข่ายก็ปิดไปอีกตัวหนึ่งครับ
  • Smart Card: ไม่มีค่อยมีใครใช้ Smart Card กับเครื่องที่บ้านใช่ไหมครับ ดังนั้นปิดไปเถอะ
  • SSDP Discovery Service: ใช้สำหรับรองรับอุปกรณ์เครือข่ายแบบ UPnP ดังนั้นไม่มีก็ปิดครับ
  • Task Scheduler: ถ้าคุณไม่ได้ตั้งการทำงานอะไรไว้ที่ Task Scheduler อย่างสแกนดิสก์ หรือจัดเรียงข้อมูลก็ปิดครับ
  • TCP/IP NetBIOS Helper: ตั้งไว้เป็น Manual ครับตัวนี้
  • Telnet: ถ้าคุณเป็นผู้ใช้ตามบ้าน Telnet คงไม่ใช้ ดังนั้นปิดครับ แต่ถ้าคุณชอบซนหน่อยอาจจะตั้งเป็น Manual ก็ได้
  • Terminal Services: ถ้าคุณไม่ใช้ Remote Desktop ก็ปิดไปอีกเหมือนกัน
  • Uninterrupted Power Supply: ปิดไปได้เลยครับถ้าคุณไม่ได้ต่อ UPS เข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่าน COM Port
  • Universal Plug and Play Device Host: อันนี้ปิดไม่ได้ครับ แต่ตั้งให้เป็น Manual ได้
  • User Privilege Service: อันนี้ให้ตั้งเป็น Manual ครับ
  • Volume Shadow Copy: ปิดไปได้เลยครับถ้าคุณไม่ได้ใช้ System Restore ของวินโดวส์
  • Windows Firewall/Internet Connection Sharing (ICS): อันนี้จะเปิดไว้ก็ได้ครับ แต่ถ้าคุณมีซอฟต์แวร์ไฟร์วอลล์อยู่แล้วมันจะซ้ำซ้อนกันเล็กน้อย ดังนั้นปิดดีกว่า (ถ้าคุณมีซอฟต์แวร์ไฟร์วอลล์นะ)
  • Windows Image Acquisition (WIA): ใช้สำหรับดึงภาพออกจากกล้องดิจิตอลและสแกนเนอร์ ปิดถ้าไม่ได้ใช้
  • Windows Media Connect: ถ้าคุณไม่ได้มีเครื่องเล่น MP3 ที่รองรับการ Sync ข้อมูลกับ WMP ได้ก็ปิดไปได้เลยครับ
  • Windows Media Connect (WMC) Helper: ปิดตัวนี้ด้วยครับ มันสัมพันธ์กับตัวข้างบน
  • Windows Time: ถ้าไม่ได้ใช้ระบบตั้งเวลากับ Server ก็ไม่ต้องใช้ครับ
  • Wireless Zero Configuration: ปิดไปถ้าไม่ได้ใช้เครือข่ายไร้สาย
  • WMI Performance Adapters: อันนี้ก็ปิดได้ครับ สำหรับการใช้งานทั่วไป
  • Workstation: ปิด Service อันนี้ด้วยครับถ้าคุณไม่ได้เชื่อมต่อกับเครือข่าย

ข้อควรระวัง
การแก้ไขการตั้งค่า Service ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงครับ ถ้าคุณปิด Service ที่สำคัญกับระบบอาจจะทำให้การทำงานบางอย่างไม่สามารถทำงานได้หรือส่งผลเสียหายต่อระบบ ดังนั้นควรอ่านรายละเอียดของ Service แต่ละตัวให้ดีเสียก่อน และถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ก็อย่างไปปรับมัน หรือปรับเป็น Manual แทนที่ปิด เพื่อลดความเสี่ยงลง