Tuesday, November 9, 2010

วิเคราะห์ Business Model ของ Alibaba.com ภาคแรก

หายหน้าหายตาไปหลายเดือนจนหยากไย่ขึ้นเต็มบล๊อกไปหมด ซึ่งอันที่จริงแล้วผมก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่วุ่นวายใบนี้แหละครับ เพียงแต่ช่วงก่อนหน้านี้งานยุ่งมากแถมหัวเสียกับหลายเรื่อง

วันนี้มีโอกาสกลับมาเขียนบล๊อกทั้งทีก็เลยลองเปลี่ยนแนวดูบ้าง อยากจะมาลองเขียนบทความเกี่ยวกับ Business ที่ได้เสียเงินเสียทองและเสียเวลาไปร่ำเรียนมาเป็นเวลาปีกว่า ดูว่าจะทำให้เรามองอะไรกว้างขึ้นมั้ย (แหล่งข้อมูลมาจากรายงานวิชา B2B Marketing ของผมเอง ;P)

ถ้าจะกล่าวถึง E-Commerce Site ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ทุกคนก็คงนึกถึง Alibaba.com ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากใน 7 ปีที่ผ่านมา โดย Alibaba.com เริ่มก่อตั้งขึ้นที่อพาร์ทเมนต์ของนาย แจ็ค หม่า (Jack Ma) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นตลาดออนไลน์ โดยมีรูปแบบทางธุรกิจเป็นสื่อกลางแบบออนไลน์เพื่อจับคู่บริษัทซัพพลายเออร์ (Supplier) ของจีนกับบริษัทผู้ซื้อจากต่างชาติ ซึ่งเป็นรูปแบบธุรกิจอีคอมเมิร์ซแบบ B2B (Business to Business นั่นเองครับ)
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Alibaba.com ประสบความสำเร็จอย่างสูงในจีน คือ การเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางและเสนอทางเลือกที่สามารถแก้ปัญหาสำคัญให้กับกลุ่มลูกค้าได้ นั่นก็คือ ปัญหาของกลุ่มบริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อมในจีนซึ่งมีจำนวนกว่า 42 ล้านราย แต่ส่วนใหญ่กลับไม่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และยังตกอยู่ในภาวะเสียเปรียบภายใต้ระบบการปกครองแบบเผด็จการ แม้จะเป็นกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจีน เนื่องจากรายได้หลักของประเทศมาจากภาคการส่งออกนั่นเอง

ปัจจุบันนี้ แหล่งซื้อขายออนไลน์ของ Alibaba.com มีตัวเลขผู้จดทะเบียนใช้บริการ 36 ล้านคนจากกว่า 240 ประเทศและภูมิภาค มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองหางโจว และมีสำนักงานสาขาที่ให้บริการในกว่า 30 เมืองทั่วประเทศจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ยุโรป และสหรัฐอเมริกา และล่าสุดได้ขยายธุรกิจไปยังอินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลี โดย Alibaba.com ได้เปิดให้บริการอีคอมเมิร์ซแบบ B2B แก่กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) เพื่อรองรับตลาด 3 กลุ่มใหญ่ได้แก่

  • เว็บไซต์ตลาดซื้อขายออนไลน์ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ (http://alibaba.com) สำหรับกลุ่มผู้นำเข้า-ส่งออกระดับโลก
  • เว็บไซต์ตลาดซื้อขายออนไลน์เวอร์ชั่นภาษาจีน (http://alibaba.com.cn ) สำหรับการซื้อขายภายในประเทศจีนและการซื้อขายผ่านบริษัทคู่ค้า
  • เว็บไซต์ตลาดซื้อขายออนไลน์เวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น (http://alibaba.co.jp ) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการนำเข้า-ส่งออกในญี่ปุ่น

นอกจากนี้
Alibaba.com ยังได้สร้างเครือข่ายธุรกิจออนไลน์ในนามของ อาลีบาบา กรุ๊ป ได้แก่

  • เถาเป่า (Taobao) เป็นธุรกิจอีคอมเมิร์ซสินค้าผู้บริโภค (B2C) รายใหญ่ที่สุดของจีน ที่สามารถโค่นเว็บประมูลออนไลน์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาอย่างอีเบย์ไชน่า (eBay China) ซึ่งเข้ามารุกตลาดจีนตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 ลงได้ เนื่องจากกลยุทธ์ที่เน้นการออกแบบเว็บให้สามารถเข้าถึงลูกค้าชาติเดียวกันได้ดีกว่า และยังให้บริการโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย จึงทำให้เถาเป่าสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 83% ในขณะที่อีเบย์ไชน่าเหลือส่วนแบ่งการตลาดเพียง 7%
  • อาลีเพย์ (Alipay) เป็นระบบตัวกลางในการชำระเงินออนไลน์ที่สะดวกและปลอดภัย ได้เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 โดยให้บริการที่เรียกว่า Escrow ระบบนี้ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบคุณภาพของสินค้าที่ได้รับ ซึ่งหากลูกค้าพึงพอใจในสินค้าที่ได้รับจริง ระบบจึงจะโอนเงินไปยังผู้ขาย ช่วยให้ผู้ซื้อสามารถมั่นใจได้ว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพตามที่ผู้ขายกล่าวอ้างจริง ปัจจุบันระบบนี้ได้รับความนิยมอย่างสูงในจีน มีร้านค้าออนไลน์มากกว่า 460,000 ร้านค้าที่รับชำระเงินโดยผ่านระบบของอาลีเพย์ รวมไปถึงบริษัทชั้นนำอย่าง Lenovo, CCTV, Aigo และ New Oriental และมีผู้ใช้บริการราว 350 ล้านคน
  • โกเบ (Koubei.com) เป็นเว็บสำหรับโฆษณาย่อยที่ผู้ใช้สามารถพูดคุยสนทนาแลกเปลี่ยน และค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับงาน อพาร์ตเมนต์ให้เช่าและร้านอาหาร
  • อาลีซอฟท์ (Alisoft.com) เป็นซอฟท์แวร์บริหารธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต ที่ได้รับการพัฒนา จัดการและจัดส่งให้แก่บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในจีน
  • อาลีมามา (Alimama.com) เป็นเว็บไซต์ให้บริการสำหรับสำนักพิมพ์และนักโฆษณาออนไลน์
  • ยาฮู ไชน่า (Yahoo China) เป็นระบบค้นหาข้อมูลและบริการออนไลน์รายใหญ่อันดับ 3 ของจีน ภายใต้ความร่วมมือกันของอาลีบาบาและยาฮู! ซึ่งแม้ยาฮู! จะมีถือหุ้นกว่า 40% แต่ก็ยอมให้อาลีบาบามีอำนาจในการบริหารยาฮู ไชน่าอย่างเต็มที่ โดยกลยุทธ์ที่สำคัญของยาฮู ไชน่าจะเน้นการค้นหาลูกค้า High-end ที่สนใจทำการค้า ลงทุน และจัดการการเงินส่วนบุคคลผ่านอินเทอร์เน็ต
  • อาลีบาบา คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Alibaba Cloud Computing) เป็นระบบที่เน้นข้อมูลเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้บริการการทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) การประมวลผลข้อมูลในปริมาณมหาศาล และการจัดการข้อมูลเพื่อรองรับลูกค้าแต่ละราย ระบบนี้ได้รับการจัดตั้งในเดือนกันยายน ค.ศ. 2009 ในวาระที่อาลีบาบาก่อตั้งครบรอบ 10 ปี
  • อาลีเอ็กซ์เพรส (AliExpress.com) เปิดให้บริการในปีค.ศ. 2011 ให้เป็นช่องทางสำหรับผู้ริเริ่มทำธุรกิจ โดยจะเน้นการสั่งสินค้าในปริมาณน้อยกว่าอาลีบาบา เพื่อรองรับกลุ่มผู้ค้ารายย่อยและผู้ที่สนใจจะเริ่มธุรกิจของตนเอง

แล้วอะไรล่ะที่เป็นปัญหาซึ่งเป็นแรงผลักดันให้กับ Alibaba.com

  • ปัญหาด้านภาษา : ประเทศจีนเป็นประเทศปิดอยู่ยาวนานหลายปี จนกระทั่งรัฐบาลจีนเริ่มที่จะเปิดประเทศมากขึ้นภายหลังการรวม ฮ่องกง เข้ากับประเทศจีน การค้าระหว่างประเทศจึงเติบโตขึ้น มีผู้สนใจจากต่างประเทศเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในประเทศจีนเป็นอย่างมาก และเนื่องจากการเป็นประเทศที่ใหญ่และมีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก เป็นกำลังซื้อที่มหาศาล รวมถึงการมีสินค้าที่เป็น Supply ที่หลายประเทศในโลกต้องการ แต่ปัญหาสำคัญที่ทำให้ประเทศจีนทำการค้าได้ยากก็คือ "ปัญหาทางด้านภาษา" ประชากรจีนส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ จึงเป็นความยากที่จะทำให้ผู้ค้าจากต่างประเทศจะพบสินค้าจีนได้ กรณีนี้กล่าวรวมถึงประเทศที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ทั่วโลก ที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ ซึ่งอาจประสปปัญหาเดียวกับประเทศจีนอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นและขาดโอกาสในการขายได้
  • ปัญหาด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ : เป็นที่รู้กันว่าประเทศจีนมีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก และยังเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ แต่ประเทศจีนรวมถึงประเทศอื่นทั่วโลกนั้นประกอบไปด้วยองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กมากมาย ซึ่งบางองค์การแทบจะไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านไอที จึงไม่เห็นความสำคัญหรือโอกาสจากการนำไอทีมาใช้อย่างจริงจัง ส่งผลให้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีน้อยและเสียโอกาสในการแข่งขันไป
  • ปัญหาของหน่วยธุรกิจทั่วโลก : องค์กรธุรกิจต้องการหาแหล่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำ ในขณะเดียวกันฝั่งผู้ขายก็ต้องการขายสินค้าให้ได้ปริมาณมากขึ้น ซึ่งโอกาสที่ผู้ขายและองค์กรธุรกิจต้องการหาแหล่งซื้อวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำนั้น เป็นไปด้วยความยากลำบาก ผู้ผลิตบางรายไม่สามารถจะหาลูกค้าได้หรือไม่ทราบแหล่งที่จะนำสินค้าไปขาย และอาจจะเสียค่าต้นทุนเพิ่มในการจัดจ้างพนักงานขายจำนวนมาก
  • ความกังวลในการใช้บริการร้านค้าออนไลน์ : องค์กรธุรกิจบางรายมีความกังวลในการซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าผ่านระบบอินเตอร์เนท เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่า และโดยเฉพาะข้อมูลบัตรเครดิต เพราะว่าหากระบบไม่มีการป้องกันการเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ดีเพียงพอ ก็จะทำให้มิจฉาชีพนำข้อมูลไปใช้ในทางที่มิชอบได้ นอกจากนี้ การปลอมแปลงสินค้า หรือได้รับสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพก็เป็นอีกหนึ่งความกังวลในการใช้บริการ เพราะลูกค้าไม่สามารถเห็นสินค้าจริงก่อนตัดสินใจซื้อ อาจจะทำให้ลูกค้าไม่พึงพอใจกับสินค้าที่ได้รับ เพราะปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์จำนวนมากที่เปิดบริการบนอินเตอร์เน็ต ถึงแม้การขยายตลาดร้านค้าออนไลน์สามารถตอบสนองความต้องการในการซื้อสินค้าที่หลากหลายของลูกค้า แต่ลูกค้าจะต้องเลือกใช้บริการร้านค้าออนไลน์ที่มีความน่าเชื่อถือในการให้บริการและสินค้า
  • ปัญหาการขาดแคลนเงินทุนสำหรับธุรกิจที่ต้องการขยายกิจการและผู้ประกอบการที่อยากทำธุรกิจของตนเอง : การขาดแคลนเงินทุนสำหรับการขยายกิจการ ส่งผลกระทบในหลายด้าน คือ ทำให้สภาพคล่องทางการเงินของธุรกิจลดลง ซึ่งทำให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือให้กับผู้ถือหุ้นหรือผู้ร่วมลงทุนในธุรกิจนั้น และสามารถถอนหุ้นไปได้ในที่สุด ซึ่งก็ส่งผลกระทบทำให้ลูกค้าไม่มีความเชื่อถือกับบริษัทและเลิกใช้บริการ เพราะความไม่มั่นคงของบริษัท ซึ่งก็สามารถทำให้พนักงานในบริษัทเกิดความกังวลได้

เหนื่อยละ T^T เด๋วคราวหน้ามาต่อบทวิเคราะห์นะครับ